home1 การรับฟังความคิดเห็นต่อนโยบายสำคัญเร่งด่วน ของกระทรวงคมนาคม
all
land
rail
water
air
other

ค้นหา
หน่วยงาน : กรมเจ้าท่า
ชื่อเรื่อง : การพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะ เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา เขตกรุงเทพฯและปริมณฑล
รายละเอียด :

การพัฒนาท่าเรือโดยสารเพื่อยกระดับการให้บริการ

กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการพัฒนาการให้บริการท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา จากท่าเรือ (Boat Pier) เป็นแบบระบบเปิด เป็นสถานีเรือ (Boat Station) แบบระบบปิด เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการ ให้มีความสะดวกและปลอดภัย ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่นได้อย่างไร้รอยต่อ โดยการพัฒนาจะดำเนินการ 3 ส่วน ประกอบด้วย 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โป๊ะท่าเทียบเรือ อาคารพักผู้โดยสาร 2) การพัฒนาระบบการให้บริการบนท่าเรือด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการให้บริการ 3) การพัฒนาตัวเรือ ซึ่งจะพัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการที่จะนำมาใช้ให้บริการในอนาคตควบคู่กันไป

1. การพัฒนาโครงสร้างอาคารพักผู้โดยสารและโป๊ะท่าเทียบเรือ

ปัจจุบันกรมเจ้าท่าได้มีการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ในส่วนของอาคารพักผู้โดยสารให้มีอัตลักษณ์ ความสวยงาม ทันสมัย และขนาดพื้นที่เพียงพอต่อการพัฒนาให้บริการเป็นสถานีเรือแบบระบบปิดในอนาคต รวมถึงปรับปรุงโป๊ะเทียบเรือให้ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย สะดวกต่อการใช้งาน เช่น การทำระบบกันลื่นพื้นผิวโป๊ะเทียบเรือ การปรับปรุงระบบกันกระแทก รวมถึงการปรับปรุงเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกผู้พิการและผู้สูงอายุ เป็นต้น สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือโดยสารเป็นสถานีเรือ เพื่อยกระดับการให้บริการท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันกรมเจ้าท่าได้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ จำนวน 16 ท่า และอยู่ระหว่างพัฒนาท่าเรือที่ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จทั้ง 16 ท่า เป็นระบบปิดในระยะต่อไป ซึ่งจะมีท่าเรือที่เป็นโครงการนำร่องในการดำเนินการเป็นระบบปิด จำนวน 3 ท่า ประกอบด้วย ท่าสาทร ท่าช้าง และท่าเตียน และท่าเรือส่วนที่เหลือ กรมเจ้าท่าได้วางแผนของบประมาณในปี 2564 – 2566 เพื่อการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือเป็นระบบปิดทั้งหมด (กรมเจ้าท่าดำเนินการ 29 ท่า เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ 10 ท่า) ตั้งแต่ท่าเรือปากเกร็ดถึงท่าเรือวัดราชสิงห์ขร ในวงเงินจำนวน 800 ล้านบาท ตามแผนงานจะเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายในปี 2566

2. การพัฒนาระบบการให้บริการบนท่าเรือด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการให้บริการ

กรมเจ้าท่าจะพัฒนาระบบการให้บริการบนท่าเรือ จากเดิมใช้เจ้าหน้าที่ประจำท่าและระบบกล้อง CCTV เพื่อควบคุมความปลอดภัย ในอนาคตวางแผนนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการเพิ่มเติม เพื่อให้สถานีเรือมีความทันสมัย สะดวก ปลอดภัย สามารถเชื่อมต่อกับการเดินทางขนส่งสาธารณะระบบอื่น ๆ ตามนโยบายกระทรวงคมนาคม ในการเป็นระบบขนส่งเดียว                 (One transport) โดยภายในสถานีเรือจะมีการติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 3 ระบบ ประกอบด้วย

1) ระบบควบคุมการเดินเรือ จะมีการติดตั้งกล้อง CCTV สำหรับตรวจการณ์ผู้โดยสารและเรือที่ผ่านเข้าออกสถานีเรือ ติดตั้งระบบสื่อสารระหว่างเรือกับท่าเรือและศูนย์ควบคุมส่วนกลาง และระบบตรวจสอบและติดตามเรือ รวมทั้งระบบแสดงข่าวสารของเรือที่อยู่ระหว่างเดินทางให้ผู้โดยสารทราบ เช่น เวลาคอยเรือ ท่าเรือก่อนหน้าและท่าเรือถัดไป ซึ่งจะแสดงข้อมูลการเดินเรือที่สถานีเรือผ่านจอตารางการเดินเรือ

2) ระบบการบริหารจัดการข้อมูล โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาดำเนินการ เพื่อให้สถานีเรือมีความทันสมัย สอดคล้องกับนโยบาย 4.0 ของรัฐบาล เช่น ระบบนับจำนวนผู้โดยสาร (People Counting) ซึ่งจะทำการนับจำนวนผู้โดยสารที่เข้าออกสถานีเรือแต่ละแห่ง รวมทั้งผู้โดยสารขึ้น-ลงเรือ เพื่อจำกัดจำนวนผู้โดยสารตามความสามารถในการบรรทุกของเรือโดยสารแต่ลำ และระบบการเฝ้าระวัง สำหรับตรวจสอบการให้บริการของผู้ประกอบการเรือโดยสาร เช่น มีการตรวจสอบความเร็วเรือ รวมทั้งการฝ่าฝืนกฎระเบียบการเดินเรือ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลการให้บริการของผู้ประกอบการเรือโดยสาร และจำนวนผู้โดยสารแต่ละท่าจะถูกเชื่อมโยง และรายงานผลมายังศูนย์ควบคุมส่วนกลางทั้งหมด เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลปรับปรุงการให้บริการต่อไป

3) ระบบตั๋วและระบบตรวจสัมภาระ ประกอบด้วย ระบบตั๋วร่วม เพื่อให้มีการเชื่อมโยงการเดินทางในระบบการขนส่งมวลชนทุกรูปแบบตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งมีการติดตั้งเครื่องตรวจสัมภาระในลักษณะเดียวกับสถานีรถไฟฟ้า

3. การพัฒนาตัวเรือ

เพื่อยกระดับมาตรฐานเรือให้มีความทันสมัย ความปลอดภัย กรมเจ้าท่าได้ประสานผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเรือโดยสาร จากเดิมเป็นเรือท้องเดียวให้เป็นแบบ catamalan (สองท้อง) เพื่อลดการเกิดคลื่น รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะให้มีการนำเรือไฟฟ้ามาใช้บริการ เพื่อลดมลภาวะทางอากาศ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการต่อไป

ประโยชน์ที่ได้รับ

เมื่อการพัฒนาตามแผนแล้วเสร็จ ประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาท่าเรือเป็นสถานีเรือ โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น พื้นที่พักคอย สื่อบริการข้อมูลข่าวสาร ระบบแจ้งเข้าออกและระยะเวลารอเรือ มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ทำให้การเดินทางมีความสะดวก ปลอดภัย ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีประชาชนเปลี่ยนการเดินทางเข้าสู่พื้นที่เมืองโดยใช้การโดยสารทางน้ำมากขึ้น จากเดิมมีผู้ใช้บริการประมาณ 50,000 คนต่อวัน เป็น 200,000 คนต่อวันในปี 2566 ซึ่งจะลดปัญหาการคับคั่งของการจราจรทางถนน ลดระยะเวลาในการเดินทาง ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ลดมลภาวะทางอากาศ และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำและสร้างภาพลักษณ์การเดินทางของประเทศต่อไป


**************************